LINE : MadderAka Babyshop

ชวนเด็กๆรักษาสุขภาพใจ เลี้ยงลูกยังไงให้สุขภาพจิตแข็งแรง

ชวนเด็กๆรักษาสุขภาพใจ เลี้ยงลูกยังไงให้สุขภาพจิตแข็งแรง


เด็กๆก็มีความเครียดความกังวลนะคะ ดูแลพัฒนาการทางกายของเด็กๆแล้วอย่าลืมดูแลใจของเด็กๆด้วยนะคะ การมีสุขภาวะทางจิตที่ดีไม่ได้หมายถึงการที่เด็กๆจะต้องมีความสุขตลอดเวลาค่ะ แต่หากหมายถึงการที่เด็กๆสามารถรับรู้และจัดการกับความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเด็กๆเลยค่ะ อาจเป็นสิ่งใหม่ๆที่เด็กๆจะต้องเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ผู้ใหญ่อย่างเราๆสามารถช่วยเด็กๆในการรักษาสุขภาพใจได้เช่นกันค่ะ  เรามี Tip ง่ายๆ มาเป็นตัวช่วยในการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตที่แข็งแรงค่ะ

  • การให้เด็กๆได้ลองอธิบายความรู้สึก : ให้เด็กๆได้ลองอธิบายความรู้สึกภายในใจ ว่าเขากำลังรู้สึกยังไงบ้าง คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องช่วยในการสอนให้เด็กๆลองสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกตัวเองอย่างตรงไปตรงมา โดยอาจเริ่มจากการทำความรู้จักกับอารมณ์ความรู้สึกรูปแบบต่างๆ และรับฟังความรู้สึกของลูกอย่างตั้งใจ ตอบสนองลูกในทางบวก จะทำให้เขามั่นใจต่อทักษะการสื่อสารอารมณ์ของตัวเอง  เปิดพื้นที่ให้เด็กๆรู้สึกว่าพ่อแม่หรือครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กๆสามารถสื่อสารได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร สามารถพูดออกมาได้ทั้งเรื่องราวที่ทุกข์และสุข การได้สื่อสารออกมาเป็นการช่วยปลดปล่อยความรู้สึก ซึ่งจะทำให้ความโกรธ ความเศร้าบรรเทาเบาบางลง และทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึก ปัญหา หรือความต้องการของเด็กๆ หากเขาต้องการความช่วยเหลือจะได้ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดอีกด้วย
  • ฝึกทักษะการจัดการทางอารมณ์ : ลองให้เด็กๆได้ฝึกจัดการความรู้สึกของตัวเองค่ะ เช่นลองดูว่าหากเราเครียด หงุดหงิด โกรธหรือเศร้า ทำอย่างไรที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น อาจจะลองแนะนำให้เด็กๆลองทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่นการไปเล่น การฟังเพลง การระบายสี ออกกำลังหรือการเต้นรำ เป็นต้น
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ :  การนอนหลับไม่เพียงช่วยฟื้นฟูการทำงานภายในร่างกาย แต่ยังช่วยทำให้เกิดสมดุล ช่วยพัฒนาสภาวะอารมณ์  หากร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยลดภาวะความเครียดและสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น
  • การทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่นการเล่นนอกบ้าน การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการคลายความตึงเครียด การได้รับอากาศบริสุทธิ์ รับแดด ได้อยู่กับธรรมชาติ จะช่วยทำให้มีจิตใจที่แจ่มใสมากยิ่งขึ้น การได้ออกแรง ทำให้ร่างกายปล่อยสารเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่ช่วยลดความเจ็บปวด กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกมีความสุข ทำให้อารมณ์ดี ลดความเศร้า ลดความวิตกกังวลได้
  • การลดการดูหน้าจอ : สำหรับเด็กๆอายุต่ำกว่า 2 ขวบ คุณหมอแนะนำให้งดการดูจอทุกประเภท เนื่องจากเป็นวัยที่เด็กๆยังไม่สามารถควบคุมตนเอง และยังไม่สามารถแยกแยะสื่อกับเหตุการณ์จริงได้ อีกทั้งยังเป็นวัยมีพฤติกรรมเลียนแบบ รวมถึงยังไม่ควรถูกกระตุ้นต่อเนื่องจากภาพบนจอที่เปลี่ยนไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคสมาธิสั้น แต่สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบอาจจะสามารถให้เรียนรู้ผ่านการดูจอ ดูสื่อต่างๆได้ แต่ควรมีการดูแลของคุณพ่อคุณแม่ และมีการกำหนดเวลาที่ให้เด็กดู เพื่อไม่ให้เด็กติดจอจนมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลกับภาวะอารมณ์ของเด็กๆได้ เช่นการใช้เวลากับหน้าจอมากๆทำให้เด็กๆมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ส่งผลกับพัฒนาการทางด้านอารมณ์ (EQ) ที่อาจจะมีช้าลง ทำให้มีสมาธิสั้นลง หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย การได้เห็นสื่อต่างๆอาจทำให้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ เกิดความเครียด วิตกกังวลกับข้อมูลข่าวสารที่ล้นเกิน ดังนั้นในทุกวัย การลดการใช้จอ จึงมีส่วนช่วยในการพักใจ ดึงตัวเองให้ช้าลง ออกจากโลกโซเชี่ยลที่สับสนวุ่นวาย มีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น
  • ให้เวลากับการเล่นสนุก : สำหรับเด็กๆ การได้เล่นอย่างอิสระมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งการเล่นของเล่นด้วยตัวเองหรือเล่นกับผู้อื่น เป็นการช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อเกิดความรู้สึกสนุกก็จะช่วยทำให้เกิดสุขภาพจิตที่ดี
  • การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น : การให้เด็กๆได้ออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือลองพบปะทำกิจกรรมกับเพื่อนใหม่ๆ จะเป็นการสร้างทักษะให้เด็กๆสามารถเข้าสังคมได้ เกิดความรู้สึกเป็นที่ยอมรับ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำความเข้าใจผู้อื่น ลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมพัฒนาการทางสมองและพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กๆได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การได้พบปะกับคนอื่นเป็นการพาตัวเด็กๆออกจากความเครียด ความกังวล ดึงความสนใจไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ๆ อันจะทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน เกิดความเบิกบานใจ
  • รับประทานอาหารทีดีมีประโยชน์ : เลือกอาหารที่มีประโยชน์ให้เด็กๆได้รับประทาน อาหารที่ดีส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีการรักษาสมดุลรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกผักและผลไม้ ที่เป็นแหล่งไขมันโอเมกา-3 วิตามิน และเกลือแร่ สารอาหารเหล่านี้ในหลากหลายงานวิจัยพบว่ามีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าได้

แต่หากพบว่าเด็กๆมีภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรพาเด็กๆไปพบแพทย์หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดนะคะ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.strong4life.com/en/emotional-wellness/depression-and-sadness/~/link.aspx?_id=DF4CD2432E49463EA69FCAD3B9340499&_z=z

https://www.amarinbabyandkids.com/parenting/toddler/toddler-development/no-screen-before-2-years-old/

Sustainability Mission

FSC Wood Printed with vegetable inks Organic cotton Made from recycled materials

Wholesale interest! Get in touch

Line Icon